โรคฉี่หนู (Leptospirosis) พบมากในหน้าฝนและในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งในคนและสัตว์ การติดเชื้อในคนมีสาเหตุมาจากการสัมผัสดิน น้ำ อาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อของของสัตว์ที่มีเชื้อ เช่น สุนัข วัว ควาย หนู สุกร ม้า หรือแม้กระทั่งสัตว์ป่าต่างๆ
อาการของผู้ที่ได้รับเชื้อโรคฉี่หนู
ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับเชื้อโรคฉี่หนูจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย มีเพียงประมาณ 10-15% ที่จะมีอาการรุนแรง เมื่อเชื้อโรคฉี่หนูเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย มีระยะฟักตัวก่อนเกิดอาการเร็วหรือช้าในแต่ละคนจะไม่เท่ากัน บางรายมีอาการเร็วภายใน 2 วัน บางรายนานหลายสัปดาห์หรืออาจจะถึง 1 เดือน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มมีอาการประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากรับเชื้อ และผู้ติดเชื่อก็มีหลายลักษณะอาการดังนี้คือ
- ไม่มีอาการเลย
- มีอาการน้อย
- มีอาการมาก
- มีอาการรุนแรง
- มีภาวะแทรกซ้อน และในบางรายเป็นอันตรายถึงชีวิต
อาการเด่นๆ ของโรคฉี่หนู
ผู้ที่เป็นโรคฉี่หนูมักมีอาการที่เป็นลักษณะเด่นๆ 2 ระยะ คือ
อาการระยะแรกของโรคฉี่หนู
อาการแสดงต่างๆ จะเป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อโดยตรง ผู้ป่วยจะมี
- อาการไข้สูง หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
- ปวดหน้าท้อง
- ปวดต้นขา ปวดน่อง
- เจ็บคอ เจ็บหน้าอก
- ไอ คลื่นไส้ อาเจียน
- ตาแดง เยื่อบุตาบวม
- มีผื่น
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- ตับโต ม้ามโต
อาการมักเป็นหลายอย่างๆ ร่วมกัน ไม่เฉพาะเจาะจงกับอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง คล้ายๆ กับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้ไทฟัส (ไข้รากสาดใหญ่) ซึ่งอาการระยะแรกนี้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วอาการจะดีขึ้น แต่หลังจากนั้น 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการในระยะที่ 2 ตามมา
อาการระยะที่สองของโรคฉี่หนู
เป็นอาการที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของตนเอง ซึ่งมักทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้หลายอย่าง เช่น
- การเกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ตาอักเสบ
- หลอดเลือดอักเสบ
- ปอดอักเสบ
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- เลือดออกในเนื้อปอด
- ตัวเหลืองตาเหลือง หรือภาวะดีซ่าน
- ไตวายเฉียบพลัน
- ภาวะเลือดออกง่ายตามอวัยวะต่างๆ และอาจทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลวและเป็นอันตรายถึงชีวิตในที่สุด
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันโรค เราควรหลีกเลี่ยงการเดินไปในที่น้ำขัง มีน้ำสกปรก และควรล้างเท้าด้วยน้ำสบู่หลังย่ำน้ำสกปรก หรือหากสงสัยว่ามีอาการของโรคฉี่หนู ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที และควรแจ้งด้วยว่ามีความเสี่ยงใดมา
“ไข้มาลาเรีย” เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อพลาสโมเดียม โดยมียุงก้นปล่องซึ่งมักอาศัยอยู่ตามป่าเขาเป็นพาหะ เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียที่มีเชื้อกัดคน ยุงจะปล่อยเชื้อจากต่อมน้ำลายเข้าสู่กระแสเลือดของคน ซึ่งจะใช้ระยะฟักตัวระหว่าง 10-14 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ
เชื้อจะเข้าสู่ตับและแตกออกจากตับเข้าสู่วงจรในเม็ดโลหิตแดง ระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการของโรคคือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะเป็นพัก ๆ ในเวลาเดิม ๆ หากไปพบแพทย์ทันก็สามารถรักษาหายได้ด้วยการทานยาไม่กี่วัน แต่หากไปพบแพทย์ช้าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะปอดบวมน้ำ ภาวะไตวาย ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้
การป้องกันโรคไข้มาลาเรีย
เนื่องจากในประเทศไทยมีปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาต่อยารักษาหลายขนาด จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาป้องกัน การป้องกันตนเองจึงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดดังนี้
1. การนอนในมุ้ง มุ้งที่ใช้ควรอยู่ในสภาพดีไม่มีรูขาดและเสียหายในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรีย ควรนำมุ้งไปชุบสารเคมีที่มีฤทธิ์ไล่และฆ่ายุง
2. การใช้ยาทากันยุงในการป้องกันไม่ให้ยุงมากัด
3. การใช้ยาจุดกันยุง เมื่อใช้จุดไฟแล้วสามารถระเหยสารออกฤทธิ์ขับไล่และฆ่ายุงได้
4. การสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด เช่น ใช้เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เป็นต้น
เมื่อพบว่ามีการติดเชื้อมาลาเรีย ผู้ป่วยต้องได้รับยาและการรักษาตามอาการ ในกรณีอาการไม่หนัก ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การใช้ยารักษาโรคไข้มาลาเรียจะจำแนกตามชนิดเชื้อและจะต้องรับประทานยาให้ครบตามจำนวนที่แพทย์แนะนำ